ทีมข่าว BETONG NEWS รายงาน…
เกษตรอำเภอเบตงสำรวจความเสียหายของพื้นที่ทำการเกษตรทางด้านพืช และประมง ในพื้นที่ตำบลธารน้ำทิพย์และตำบลตาเนาะแมเราะ อำเภอเบตง จังหวัดยะลา
( 16 ตุลาคม 2562) นายอารีฟ มหัศนียนนท์ เกษตรอำเภอเบตง พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอเบตง ลงพื้นที่สำรวจความเสียหายของพื้นที่ทำการเกษตรทางด้านพืช และประมง ของเกษตรกรหมู่ที่ 4 ตำบลธารน้ำทิพย์ อำเภอเบตง จังหวัดยะลา จากการสำรวจเบื้องต้นพบว่ามีพื้นที่เพาะเลี้ยงปลาจำนวน 2 บ่อ ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ถูกน้ำท่วมและปลาได้พัดไปกับกระแสน้ำ จึงได้เตือนเกษตรกรให้เฝ้าระวังความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นซ้ำต่อผลผลิตทางการเกษตร นอกจากนี้ยังได้ให้กำลังใจ และคำแนะนำแก่เกษตรกรในการดูแลพืชผัก ไม้ผล เร่งติดตั้งตาข่ายรอบบริเวณบ่อเพื่อป้องกันความเสียหายแก่ปลาที่ยังเหลืออยู่ รวมไปถึงการเตรียมรับมือกับรับสถานการณ์อุทกภัยที่คาดว่าจะมีฝนตกอย่างต่อเนื่อง
จากนั้นลงพื้นที่สำรวจ และประเมินความเสียหายเบื้องต้นของพื้นที่ทำการเกษตรที่ประสบอุทกภัย ของเกษตรกรหมู่ที่ 2 อำเภอเบตง จังหวัดยะลา นอกจากนี้ยังได้ให้กำลังใจ และคำแนะนำแก่เกษตรกร รวมไปถึงการเตรียมรับมือกับรับสถานการณ์อุทกภัยที่คาดว่าจะมีฝนตกอย่างต่อเนื่องไปตลอดเดือนตุลาคมนี้อีกด้วย สำหรับเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย หากมีพื้นที่ทำการเพาะปลูกซึ่งเสียหายโดยสิ้นเชิง และเกษตรกรขึ้นทะเบียนเกษตรกรกับกรมส่งเสริมการเกษตรไว้ก่อนเกิดภัย จะมีการให้ความช่วยเหลือตามจำนวนพื้นที่เพาะปลูกที่เสียหายจริง รายละไม่เกิน 30 ไร่ ได้แก่ ข้าว อัตราไร่ละ 1,113 บาท พืชไร่ อัตราไร่ละ 1,148 บาท พืชสวนและอื่นๆ อัตรา ไร่ละ 1,690 บาท ทั้งนี้ เมื่อเกิดภัยพิบัติและผู้ว่าราชการจังหวัดประกาศเขตพื้นที่การให้ความช่วยเหลือฯ เกษตรกรต้องยื่นแบบความจำนงขอรับการช่วยเหลือ (กษ 01) โดยให้ผู้นำท้องถิ่นรับรอง ก่อนที่จะมีการตรวจสอบทะเบียนเกษตรกร และพื้นที่เสียหายจริง เพื่อพิจารณาให้ความช่วยเหลือตามขั้นตอนต่อไป
สำนักงานเกษตรอำเภอเบตง มอบปัจจัยการผลิต ต้นพันธุ์สละอินโด และปุ๋ยอินทรีย์ ตามโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตด้านการเกษตร งบประมาณกลุ่มจังหวัดภาคใต้ชายแดน ปี 2562
วันเดียวกัน ที่สำนักงานเกษตรอำเภอเบตง จังหวัดยะลา นายอารีฟ มหัศนียนนท์ เกษตรอำเภอเบตง มอบหมายให้เจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอเบตง ส่งมอบปัจจัยการผลิต ได้แก่ ต้นพันธุ์สละอินโด และปุ๋ยอินทรีย์ ในโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตด้านการเกษตร งบประมาณกลุ่มจังหวัดภาคใต้ชายแดน ปี 2562 กิจกรรมเพิ่มรายได้เกษตรกรในสวนยางพารา (กิจกรรมการปลูกสละอินโด) จำนวนเป้าหมาย 21 ราย ทั้งนี้เพื่อพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรให้มีความรู้ความสามารถ ในการจัดกระบวนการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับความต้องการของเกษตรกร สามารถนำเทคโนโลยีมาใช้ในการจัดการเพิ่มประสิทธิภาพการปลูกสละอินโด พร้อมทั้งพัฒนาศักยภาพเกษตรกรให้มีความรู้และทักษะในการเพิ่มประสิทธิภาพการปลูกสละอินโด ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด และพัฒนาให้เกิดเครือข่ายผู้ปลูกสละอินโด ในพื้นที่
นายอารีฟ มหัศนียนนท์ เกษตรอำเภอเบตง กล่าวว่า สละอินโดฯ เป็นพืชท้องถิ่นของประเทศอินโดนีเซีย เกษตรกรไทยได้นำเข้ามาปลูกในประเทศไทยนานหลายปีแล้ว โดยเริ่มในจังหวัดทางภาคใต้ เนื่องจากมีอากาศชื้นและฝนชุกคล้ายภูมิประเทศของอินโดนีเซีย โดยพื้นฐานของสละอินโดไม่ชอบแสงแดดจัด ขึ้นได้ดีในสภาพร่มเงา ไม่ส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตและผลผลิตของยางพารา สามารถปลูกในดินร่วนปนทรายได้ ชอบความชื้นเล็กน้อย จึงเหมาะแก่การปลูกเพื่อเสริมรายได้ในสวนยาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาวะยางพาราตกต่ำ
/////////////////////////////////
687 total views, 2 views today
More Stories
เลขาฯ รมต.ยุติธรรม ชี้ มหกรรมแก้หนี้ ปลดหนี้ สร้างวิถีแห่งความเป็นธรรม แก้ปัญหาหนี้สิน 242 ล้าน
เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษาเป็นประธานเปิดป้ายอาคารเรียนและอาคารปฏิบัติการ วิทยาลัยการอาชีพเบตง
เทศบาลเมืองปัตตานีจัดกิจกรรมสัปดาห์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ต่อยอดกิจกรรมการเรียนรู้ภายในศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์ของอุทยานการเรียนรู้ปัตตานี