มีนาคม 28, 2024

spmc สื่อเพื่อสันติ สรรค์สร้างสังคม

ทำ 1 ไร่ ได้เงิน 1 แสน ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาที่มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับการยั่งยืนของชาวนาไทย

แชร์เลย

เกษตรจังหวัดยะลา ได้จัดทำโครงการพัฒนาและขยายผลโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริจังหวัดยะลา ปีงบประมาณ 2562 กิจกรรม ทำ 1 ไร่ ได้เงิน 1 แสน ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งได้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในการทำนา เพื่อเป็นการสร้างหมู่บ้านทำนาที่เป็นต้นแบบ ในการดำเนินชีวิตแบบพอเพียง จำนวน 15 ไร่ ในพื้นที่อำเภอเมืองยะลา เมื่อรวมพื้นที่ดำเนินโครงการ ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2553 – 2561 อีกจำนวน 9๐ ไร่ ทำให้มีพื้นที่ดำเนินโครงการ รวมทั้งสิ้นจำนวน 105 ไร่ ตั้งอยู่ในพื้นที่อำเภอเมืองยะลา จำนวน 66 ไร่ และพื้นที่อำเภอรามัน จำนวน 39 ไร่

( 20 ธันวาคม 2561) ที่โรงแรมแกรนด์พาเลซ อ.เมือง จ.ยะลา นายกัสมัน ยะมาแล หัวหน้ากลุ่มยุทธศาสตร์และสารสนเทศ รักษาราชการแทนเกษตรจังหวัดยะลา กล่าวว่า เกษตรจังหวัดยะลา ได้จัดอบรมถ่ายทอดความรู้ กิจกรรมทำ 1 ไร่ ได้เงิน 1 แสน ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง ในครั้งนี้จำนวน 1 วัน โดยมีผู้เข้าร่วมการอบรมฯ ทั้งหมด 100 คน ประกอบด้วย เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ ในปีงบประมาณ 2559 – 2561 จำนวน 55 คน และเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ ในปีงบประมาณ 2562 จำนวน 15 คน จากพื้นที่อำเภอเมืองยะลา และอำเภอรามัน ตลอดจนเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรในสังกัดสำนักงานเกษตรอำเภอ และสำนักงานเกษตรจังหวัดยะลา จำนวน 30 คน โดยมีนายนิมะ มะกาเจ รองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา เป็นประธานเปิดงาน ดังกล่าวสำรับหลักสูตรการอบรมฯ ประกอบด้วย แนวคิดการทำ 1 ไร่ ได้เงิน 1 แสน ความยั่งยืนของชาวนาไทย การเลี้ยงเป็ด ไก่และสูตรการทำอาหารเลี้ยงเป็ด ไก่ การเลี้ยงปลากินพืช และสูตรการทำอาหารเลี้ยงปลากินพืช การปรับปรุงบำรุงดิน เพื่อเพิ่มผลผลิตอย่างยั่งยืน เพื่อให้ผู้เข้าร่วมโครงการ รวมทั้งผู้ที่เกี่ยวข้อง มีความรู้ ความเข้าใจในกิจกรรมทำ ๑ ไร่ ได้เงิน 1 แสน ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง การดำเนินกิจกรรม ทำ 1 ไร่ ได้เงิน 1 แสน ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง เป็นการดำเนินงานสนองพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ รัชกาลที่ 9 โดยน้อมนำแนวพระราชดำริเรื่อง หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และเกษตรผสมผสาน มาประยุกต์ใช้ โดยปรับพื้นที่แปลงนาจำนวน 1 ไร่ ออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ 1 พื้นที่สำหรับปลูกข้าว ส่วนที่ 2 พื้นที่สำหรับปลูกผัก และทำการปศุสัตว์ และส่วนที่ 3 พื้นที่สำหรับทำการประมง ซึ่งจะทำให้ชาวนามีอาหารเพื่อใช้บริโภคภายในครัวเรือนอย่างพอเพียง และเป็นการลดภาระค่าใช้จ่าย หากเหลือจากใช้บริโภคภายในครัวเรือน ก็สามารถจำหน่ายเพื่อสร้างรายได้ให้เพิ่มขึ้นอีกทางหนึ่ง

นอกจากนี้ ผู้จัดการอบรมฯได้จัดเตรียมองค์ความรู้ ประสบการณ์จากเจ้าหน้าที่ ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เพื่อมาถ่ายทอดให้แก่ผู้เข้ารับการอบรมหวังว่าผู้เข้าร่วมการอบรมฯทุกท่าน จะให้ความสนใจและพร้อมรับความรู้ ประสบการณ์ เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในอาชีพการเกษตร และถ่ายทอดแก่สมาชิกในหมู่บ้าน เพื่อสร้างสังคมแห่งความพอเพียงและยั่งยืน

////////////////////////////

ทีมข่าว SPMCnews ยะลา รายงาน

 742 total views,  4 views today