เมษายน 26, 2024

spmc สื่อเพื่อสันติ สรรค์สร้างสังคม

เจ้าหน้าที่ รพ.สต.อัยเยอร์เวง อ.เบตง จ.ยะลา ลงพื้นที่ควบคุมการระบาดโรคหัดหลังพบผู้ป่วยแล้ว 4 ราย พร้อมเผย ขณะลงพื้นที่ผู้ปกครองถึงขั้นทำร้ายลูกตนเองไม่ให้รับการฉีดวัคซีน

แชร์เลย

(10ต.ค.61) หลังจากที่พบโรคหัดระบาดในพื้นที่ 8 อำเภอ จังหวัดยะลา พบเด็กเสียชีวิตแล้ว 5 คน และพบผู้ป่วยแล้วกว่า 200 ราย นายวงศ์วิทย์ อัครวโรทัย สาธารณสุขอำเภอเบตง จึงได้มอบหมายให้ นางเจนจิรา ดาดี ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลอัยเยอร์เวง น.ส.นางสาวสุไลลา ดะแซสาเมาะ พยาบาลวิชาชีพโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลอัยเยอร์เวง นำเจ้าหน้าที่ รพ.สต.อัยเยอร์เวง ผู้ใหญ่บ้าน และ อสม.ลงพื้นที่ บ้าน กม.29 หมู่ที่ 1 และ บ้าน กม. 36 หมู่ที่ 3 ต.อัยเยอร์เวง อ.เบตง จ.ยะลา เพื่อควบคุมการระบาดโรคหัด หลังพบผู้ป่วยเป็นโรคหัด จำนวน 4 ราย ในหมู่บ้านดังกล่าว โดยได้ดำเนินการฉีดวัคซีนแก่ผู้ป่วย ผู้สัมผัสโรคและเยาวชนกลุ่มเสี่ยงเรียบร้อยแล้ว พร้อมทั้งอบรมให้ความรู้แก่ชาวบ้านและเด็กเกี่ยวกับการป้องกันตัวเองจากโรคหัด


น.ส.นางสาวสุไลลา ดะแซสาเมาะ พยาบาลวิชาชีพโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลอัยเยอร์เวง กล่าวว่า โรคหัด เป็นโรคไข้ออกผื่น พบได้ทุกวัย และพบได้บ่อยในเด็กเล็ก อายุ 1-6 ปี เกิดจากเชื้อไวรัส Measles ซึ่งพบได้ในจมูกและลำคอของผู้ป่วย ติดต่อกันได้ง่ายมาก โดยการไอ จาม หรือพูดกันในระยะใกล้ชิด เชื้อไวรัสจะกระจายอยู่ในละอองเสมหะ น้ำมูก น้ำลาย และเข้าสู่ร่างกายโดยทางการหายใจ บางครั้งเชื้ออยู่ในอากาศ เมื่อหายใจเอาละอองที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัสเข้าไป ก็ทำให้เป็นโรคได้ ถ้าไม่มีภูมิต้านทาน ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเป็นเด็กที่ยังไม่ได้รับวัคซีน นอกจากนี้ โรคหัดยังอาจทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนที่ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ ส่วนอาการของโรคหัด เริ่มด้วยมีไข้ น้ำมูกไหล ไอ ตาแดง ตาแฉะและกลัวแสง อาการต่าง ๆ จะมากขึ้นพร้อมกับไข้สูงขึ้น และจะสูงขึ้นเต็มที่เมื่อมีผื่นขึ้นในวันที่ 4 ลักษณะผื่นนูนแดงติดกันเป็นปื้น ๆ โดยจะขึ้นที่หน้า บริเวณชิดขอบผม แผ่กระจายไปตามลำตัว แขน ขา เมื่อผื่นแพร่กระจายไปทั่วตัว ซึ่งกินเวลาประมาณ 2-3 วัน ไข้ก็จะเริ่มลดลง ผื่นระยะแรกมีสีแดงจะมีสีเข้มขึ้นเป็นสีแดงคล้ำ หรือน้ำตาลแดง บางครั้งจะพบผิวหนังลอกเป็นขุย การตรวจในระยะ 1-2 วัน ก่อนผื่นขึ้นจะพบจุดขาว ๆ เล็ก ๆ มีขอบสีแดง ๆ อยู่ในกระพุ้งแก้ม ส่วนการป้องกันทำได้โดยการให้วัคซีนป้องกันโรค จำนวน 2 ครั้ง คือ ครั้งแรกเมื่อเด็กอายุ 9-12 เดือน ครั้งที่ 2 เมื่อเด็กอายุ 2 ปีครึ่ง จึงอยากให้พ่อแม่ ผู้ปกครองนำบุตรหลานไปรับวัคซีนให้ครบตามเกณฑ์ และในช่วงการระบาด ขอให้ ผู้ปกครอง เฝ้าระวังป้องกันโรคหัดตามคำแนะนำเบื้องต้น


น.ส.สุไลลา ดะแซสาเมาะ กล่าวอีกว่า ในการลงพื้นที่แต่ละครั้ง ชาวบ้านซึ่งนับถือศาสนาอิสลาม บางกลุ่ม ต่อต้านการฉีดวัคซีนโรคหัดให้กับเด็ก เพราะมีความเชื่อที่ว่าวัคซีนดังกล่าวไม่ฮาลาล หรือไม่ถูกต้องตามหลักศาสนา โดยเชื่อว่ามีสารสกัดจากหมูเป็นส่วนผสม ล่าสุด เมื่อวานนี้(9ต.ค.61) ขณะที่เจ้าหน้าที่ รพ.สต. กำลังให้ความรู้แก่ชาวบ้านและเด็กเกี่ยวกับการป้องกันตัวเองจากโรคหัด ขณะที่เจ้าหน้าที่กำลังฉีดวัคซีน มีผู้ปกครองรายหนึ่งเดินเข้ามาทำร้ายลูกของตัวเอง ไม่ให้รับการฉีดวัคซีน ต่อหน้าเจ้าหน้าที่ แม้ที่ผ่านมาจะเคยลงพื้นที่ทำความเข้าใจกับผู้นำศาสนา และประชาชน บ่อยครั้งว่าการรับวัคซีนป้องกันโรคต่างๆ ในเด็กมุสลิมสามารถดำเนินการได้ เพื่อป้องกันการระบาดของโรคหัด แต่ก็ยังคงมีบางกลุ่มที่ปฏิเสธและต่อต้าน


นายวงศ์วิทย์ อัครวโรทัย สาธารณสุขอำเภอเบตง เปิดเผยว่า ทางสาธารณสุขอำเภอเบตง ได้ควบคุมการระบาดโรคหัดในพื้นที่ ด้วยมาตรการ 323 “หาให้ครบ ฉีดให้ทัน” ลงพื้นที่เชิงรุกดำเนินการวินิจฉัยโรคให้เร็ว แจ้งเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ให้ทราบภายใน 3 ชั่วโมง เพื่อลงสอบสวนโรค หาผู้สัมผัสโรคให้ครบ ภายใน 2 วัน และดำเนินการฉีดวัคซีนแก่ผู้สัมผัสโรคภายใน 3 วัน ในส่วนของผู้สัมผัสโรค ได้แก่ ผู้ที่อยู่บ้านเดียวกันกับผู้ป่วย ในโรงเรียน ที่ทำงาน ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดคลุกคลี และบุคลากรสาธารณสุขที่ดูแลสัมผัสผู้ป่วย
สำหรับสถานการณ์โรคหัดในจังหวัดยะลา ว่า มีการเกิดโรคหัดอย่างต่อเนื่อง และมีการระบาดจากพื้นที่ที่ความครอบคลุมของวัคซีนต่ำ พบสัดส่วนการเกิดโรคหัดระบาดในกลุ่มเด็ก ข้อมูลในช่วงวันที่ 1 กันยายน ถึง 7 ตุลาคม 2561 พบมีผู้ป่วย จำนวน 294 ราย มีการระบาดเป็นกลุ่มก้อนกระจายทุกอำเภอ โดยอำเภอที่มีผู้ป่วยสูงสุดคืออำเภอยะหา (77 ราย) รองลงมาอำเภอธารโต (49 ราย) บันนังสตา (42 ราย) กรงปีนัง (36 ราย) กาบัง เมืองยะลา (34 ราย) รามัน (18 ราย) และอำเภอเบตง (4 ราย)

//////////////////////////////////

ภาพ/ข่าว อดินันท์ มะลี อ.เบตง จ.ยะลา

 517 total views,  2 views today

You may have missed