เดือนเมษายน ของทุกปี ประเทศไทย โดยเฉพาะทางภาคใต้ จะเป็นเดือนที่มีอุณภูมิ ความร้อนสูง ว่ากันง่ายๆ คือ อากาศร้อนมาก ทุกคนจึงพยายามจะ สรรหาบรรยากาศ พาตัวเองและครอบครัวเพื่อคลายร้อน หากคิดไม่ออกจะไปที่ไหน แนะนำ ที่นี้ครับ อุทยานแห่งชาติน้ำตกปาโจ น้ำตกปาโจ ตั้งอยู่บ้านปาโจ ตำบลบาเจาะ อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส
น้ำตกปาโจ อยู่ในบริเวณ อุทยานบูโด-สุไหงปาดี ซึ่งมีเนื้อที่ มีเนื้อที่ประมาณ 213,125 ไร่ หรือ 341 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมอยู่ในพื้นที่อำเภอสุไหงปาดี บาเจาะ อำเภอรือเสาะ อำเภอยี่งอ อำเภอเจาะไอร้อง อำเภอระแงะ อำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส อำเภอรามัน จังหวัดยะลา และอำเภอกะพ้อ จังหวัดปัตตานี
ปาโจ เรียก ตามภาษามลายูท้องถิ่น คือ น้ำตกนั้นเอง แต่โดยทั่วไปแล้วคนจะรู้จักกัน “ ปาโจแปะบุญ ” แปลว่า น้ำตกแปะบุญหรือน้ำตกบาเจาะ เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ที่มีน้ำไหลตลอดปี มีความสูงประมาณ 60 เมตร ซึ่งเป็นพื้นที่ลักษณะป่าดิบร้อน มีความชื้นสูง และมีฝนตกตลอดทั้งปี ซึ่งน้ำตกดังกล่าว มีทั้งหมด 7 ชั้น อยู่ห่างจากอำเภอบาเจาะประมาณ 3 กิโลเมตร
มีสภาพภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสูงสลับซับซ้อน เป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร น้ำใสสะอาด มีพันธุ์ไม้ที่มีค่านานาชนิด สถานที่แห่งนี้ที่มีความสวยงามตามธรรมชาติมากที่สุดแห่งหนึ่ง ความสำคัญทางธรรมชาติ เป็นสภาพที่พักผ่อนหย่อนใจ นอกจากจะมีธรรมชาติที่สวยงามแล้วยังเป็นแหล่งประวัติศาสตร์ที่สำคัญ คือ พลับพลา “ศาลาธารทัศน์” ของรัชกาลที่ 7 เมื่อคราวเสด็จประพาสจังหวัดนราธิวาสและหินสลักจารึกพระปรมาภิไธยย่อและนามาภิไธยย่อ ในมหาจักรีวงศ์ของไทย
จุดสนใจอีกอย่างหนึ่งของน้ำตกปาโจแห่งนี้ คือ ใบไม้สีทองหรือ ย่านดาโอ๊ะ พันธุ์ไม้ชนิดนี้ถูกค้นพบเป็นครั้งแรกในโลกที่นี่ เมื่อปี พ.ศ. 2531 ใบไม้สีทองเป็นไม้เลื้อย มีลักษณะใบคล้ายใบชงโคหรือใบเสี้ยว เทียบบางใบใหญ่กว่าฝ่ามือเสียอีก ทุกส่วนของใบจะปกคลุมด้วยขนกำมะหยี่เนียนนุ่ม มีสีทองหรือสีทองแดงเหลือบรุ้งเป็นประกายงดงามยามต้องแสงอาทิตย์
นายสนธยา กาญจนะ เจ้าหน้าที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ ผู้จุดประกายผีเสื้อ เทือกเขาบูโดอุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี ซึ่งเป็นผู้หนึ่งในการวิจัยค้นหาผีเสื้อในประเทศไทย กล่าวว่า พื้นที่อุทยานแห่งบูโด-สุไหงปาดี ซึ่งเป็นพื้นที่ลักษณะป่าดิบร้อน มีความชื้นสูง และมีฝนตกตลอดทั้งปี น้ำตกปาโจ เป็นแหล่งกำเนิดใบไม้สีทอง หรือย่านดาโอะ ที่เดียวในประเทศไทย และในโลก เป็นแหล่งอาศัยของนกเงือก 6 ชนิด ยังเป็นที่แหล่งพันธุ์ผีเสื้อกว่า 100 ชนิด ล้วนเป็นพันธ์หายาก มีผีเสื้อหลากหลายสายพันธุ์ชนิด ผีเสื้อจะอาศัยอยู่ในบริเวณพื้นป่า และตามแหล่งน้ำจืด บริเวณน้ำตาปาโจ ซึ่งน้ำตกดังกล่าว มีทั้งหมด 7 ชั้น ส่วนของการดู หรือส่องดูผีเสื้อ สามารถเดินดูได้ในบริเวณชั้น 1 รอบบริเวณป่าและน้ำตกตามเส้นปกติ และเส้นทางเดินป่า ซึ่งจะพบเห็นผีเสื้อหลายชนิดที่บินวน และเกาะกิ่งไม้ เป็นภาพผีเสื้อที่มีสีสันความสวยงามตามธรรมชาติเหนือคำบรรยาย ในการค้นหาวิจัยผีเสื้อในพื้นที่อุทยานบูโด-สุไหงปาดี ตลอดระยะแค่ 2 ปี สามารถเก็บข้อมูลผีเสื้อหลากหลายชนิดที่อาศัยในพื้นป่าแห่งนี้เกือบ 100 ชนิด และยังพบพันธุ์ผีเสื้อหายาก เช่น ผีเสื้อสกุล (haraga) ผีเสื้อท้ายขาวปุยหิมะ (darpa pteria) ผีเสื้อเจ้าหญิงสีฟ้า (prothoe franck) ผีเสื้อแหวนมลายู (ragadia makuta) และอีกชนิดที่สำคัญคือ ผีเสื้อหนอนกลอยสีฟ้า (drina maneia) เป็นชนิดผีเสื้อที่หายาก และในตำราหนังสือวิจัยผีเสื้อพบว่า มีที่เดียวในประเทศไทย คือ ที่อุทยานแห่งชาติบางสีดา จ.สระแก้ว และที่อุทยานน้ำตาปาโจ จ.นราธิวาส ค้นพบผีเสื้อหนอนกลอยสีฟ้าจำนวนมาก เป็นแหล่งที่ 2 ในประเทศไทย ซึ่งผีเสื้อดังกล่าวมีความสำคัญต่อหนักวิจัยมาก เพราะผีเสื้อหนอนกลอยสีฟ้า เป็นตัวชี้วัดความสมบูรณ์ของป่าธรรมชาติ และความอุดมสมบูรณ์ในระบบนิเวศ
ผีเสื้อใกล้รุ่งธรรมดา ไม่ง่ายเลยครับที่จะเจอผีเสื้อขนิดนี้ผมเองใช้เวลาไม่น้อยกว่า4ปี นายสนธยา กาญจนะ บอกว่า ภาวนาอยู่ตลอดว่าสักวันคงจะเจอ ในที่สุดเมื่อวันที่16มีค 61 ผมก็ได้เจอกับผีเสื้อชนิดนี้ดังใจหวัง ตอนเจอผมนึกว่าเป็นพวกท้ายขาวปุยหิมะเพราะลักษณะการเกาะเหมือนกันเป๊ะ ผมขยับเข้าไปอย่างช้าๆและแผ่วเบา โอๆๆผีเสื้อใกล้รุ่งธรรมดา ใจผมเต้นรัวตื่นเต้นสุดๆรีบกดชัตเตอร์อย่างไม่ยั้งผมกดเป็นร้อยครั้งกดจนหนำใจ กลับมาเปิดตำราดูใช่จริงๆด้วยตัวที่ผมยากจะเจอ มันเกาะซ่อนตัวอยู่ใต้ใบไม้ที่ไม่สูงจากพื้นมากนัก ผมต้องพยายามถ่ายภาพมันด้วยการนอนลงกับพื้นเพื่อให้ได้ภาพมาตามที่เห็น การพบผีเสื้อเป็นเรื่องของโชค และการขยันออกไปหามันครับ ยิ่งเพิ่มโอกาสให้ตัวเองออกไปอยู่ในพื้นที่ธรรมชาติมากเท่ารัย เราก็มีโอกาสพบปีเสื้อชนิดต่างๆ ได้มากขึ้นเท่านั้น
จากการที่สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืชได้ส่งเอกสารยืนยัน ว่าผีเสื้อชนิดดังกล่าวเป็นชนิดพันธุ์ใหม่ที่ไม่เคยมีรายงานการพบในประเทศไทยจริง และปัจจุบันยังไม่ได้มีการตั้งชื่อสามัญภาษาไทยให้แก่ผีเสื้อชนิดดังกล่าว นั้นคือสิ่งที่ดีที่สุดที่ผีเสื้อตัวนี้ได้ถูกค้นพบและถ่ายภาพเอาไว้ได้ในพืืนที่อุทยานฯบูโด-สุไหงปาดี จ.นราธิวาสเพื่อให้เกิดแรงกระตุ้นความสนใจจากแหล่งวิชาการ แหล่งข่าวให้มานำเสนอเรื่องราวและใด้เข้ามาดูผีเสื้อตัวดังกล่าวในพื้นที่ฯและอาจจะเป็นตัวกระตุ้นให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจและเป็นแหล่งศึกษาข้อมูลในทางชีววิทยาของผีเสื้อในสกุลดังกล่าว
การเดินทาง
รถยนต์ จากกรุงเทพฯถึงอำเภอบาเจาะ ไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 42 ถนนสายปัตตานี – นราธิวาส 1,122 กิโลเมตร จากอำเภอบาเจาะ ถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติบูโด – สุไหงปาดี เข้าถนนพิพิธปาโจ ระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตร
ทางรถไฟ จากสถานีรถไฟหัวลำโพง ถึงสถานีตันหยงมัส อำเภอระแงะ จากอำเภอระแงะ ผ่านอำเภอยี่งอ ไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 42 ถนนสายนราธิวาส – ปัตตานี ถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติบูโด – สุไหงปาดี ระยะทางประมาณ 32 กิโลเมตร
ทางอากาศ จากสนามบินกรุงเทพฯ ถึงสนามบินนราธิวาส (บ้านทอน) ไปตามถนนสายบ้านทอน – บาเจาะ ถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติบูโด – สุไหงปาดี ระยะทางประมาณ 16 กิโลเมตร
อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่สนใจจะแวะท่องเที่ยวน้ำตกปาโจ และจะดูผีเสื้อหลายหลายชนิด หรือนักท่องเที่ยว เชิงอนุรักษ์ธรรมชาติ ติดต่อได้ที่อุทยานแห่งชาติน้ำตกปาโจ ได้ตลอดทั้งวัน ในส่วนเวลาที่เหมาะสมในการดู หรือส่องดูผีเสื้อ ควรเป็นเวลาแดดออกประมาณ 09.00-15.00 ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ป่าไม้คอยอำนวยความสะดวก และรักษาความปลอดภัยตลอด 24 ชั่วโมง
บทโดย รพี มามะ บรรณาธิการข่าว/บรรณาธิการบริหาร SPMCNEWS ภาพโดยหลวงสน
3,471 total views, 2 views today
More Stories
SEC ภาคใต้กับSEA สงขลา-ปัตตานี
มหกรรมคาราวาน OK BETONG BIKE WEEK 2024 ระหว่างวันที่ 2 – 3 สิงหาคม 2567
สตรีทฟู้ดแอนด์อาร์ท Betong Art Club ศิลปะภาพวาด ความหลากหลายเมืองเบตง